วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๖ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร.ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า จากกระแสแห่งความเชื่อที่หลากหลายเกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งพื้นฐานคนไทยมีความเชื่อหลากหลายมายาวนาน เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมมีความหวังในชีวิต โดยเฉพาะอะไรที่มองว่าส่งเสริมชีวิต โดยมองว่า “ความรักฟินธุรกิจปังปัง” จึงพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นไม่ว่าจะสายใด คำถาม ทำไมคนไทยเชื่อในสายมูเพิ่มมากขึ้น เป็นความศรัทธาที่มีสติและปัญญากำกับหรือไม่
แล้วในทางพระพุทธศาสนามองมิติสายมูอย่างไร เพราะ “ศรัทธาเป็นของหินเหล็กไฟ ส่วนงมงายเป็นของBody slam” แท้จริงแล้วใต้ภูเขาน้ำแข็งของการเชื่อในสายมูเตลูคืออะไร แต่ผลวิจัยสะท้อนว่าเพราะภาวะทางเศรษฐกิจถดถอยสายมูจึงได้รับความสนใจมากขึ้น มันมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ? ความเปราะบางของผู้คนหรือไม่ที่จะต้องมีพึ่งที่หลากหลาก การพึ่งพาสิ่งเหล่านั้นสร้างความขัดแย้งหรือสร้างสันติสุขให้กับชีวิต ครอบครัว และสังคม หรือ ความเชื่อเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานใครจะเชื่ออะไรก็ได้ ?
ประเด็นนี้เคยมีการเสวนา “สายมูกับชีวิตที่ปังไปด้วยกันได้หรือไม่ อย่างไร” เบื้องต้นจะต้องรู้จักคำว่า มูเตลู เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน มักเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องการเสริมดวง และการบูชาของขลังต่างๆ ตามความเชื่อส่วนบุคคล โดยเรามักจะเรียกผู้ที่สนใจในเรื่องเหล่านี้ว่า “สายมู” (คำย่อของ สายมูเตลู) แต่เคยสงสัยกันไหมว่า จริงๆ แล้วคำว่า มูเตลู มีความหมายว่าอะไร และมีที่มาอย่างไร
โดยทำความรู้จัก “มูเตลู” คือ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ เรื่องลี้ลับ ของขลัง ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ การดูไพ่ การเสริมดวงและโชคชะตา การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในปัจจุบันมูเตลูเป็นการหลอมรวมความเชื่อพุทธ พราหมณ์ การนับถือผีและสิ่งเร้นลับเข้าด้วยกัน จนกลืนกลายเป็นความเชื่อที่เสริมกำลังใจผู้นับถือบูชาให้สมหวังในสิ่งที่มุ่งหวัง เช่น มูเตลูด้านการงาน การเงิน และความรัก
ส่วนที่มาของคำว่า “มูเตลู” มาจากภาพยนตร์สยองขวัญสัญชาติอินโดนีเซีย ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า มูเตลู ศึกไสยศาสตร์ (Penangkal Ilmu Teluh) ออกฉายครั้งแรกในปี ๑๙๗๙ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาว ๒ คน ที่หมายปองชายหนุ่มคนเดียวกัน พวกเธอต่างใช้มนตร์ดำร่ายคาถาให้ชายหนุ่มคนนั้นหลงรัก โดยการท่องคาถามีคำว่า “มูเตลู มูเตลู” รวมอยู่ด้วย ซึ่งหมายถึงการใช้ไสยศาสตร์นั่นเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ ไพ่ยิปซี การพยากรณ์ ของขลัง วัตถุมงคล การเสริมดวง หรือสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ มักถูกเหมารวมเป็นความเชื่อในลักษณะเดียวกัน และกลายเป็นที่มาของคำว่ามูเตลูที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง
จุดเริ่มต้นกระแสสายมูเตลูในประเทศไทย เริ่มแรกคำว่า “มูเตลู” เป็นกระแสอยู่ในความสนใจของคนไทย ช่วงที่มีการบูชาเครื่องรางของขลังอย่างตะกรุด กำไลเสริมดวง หินสีมงคล ทำให้คำว่าสายมูเริ่มใช้กันแพร่หลาย (แม้อาจมีความหมายผิดเพี้ยนไปจากหนังต้นเรื่อง มูเตลู ศึกไสยศาสตร์ ที่เน้นเฉพาะเรื่องไสยศาสตร์) โดยเฉพาะเมื่อคนดัง ดารา นักแสดง หรืออินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ หันมาบูชาและใช้เครื่องรางของขลัง ของนำโชค ของเสริมดวง ที่เชื่อว่าจะช่วยดูดทรัพย์ ส่งเสริมเรื่องการงาน การงาน และความรัก ยิ่งทำให้หลายคนสนใจหาของนำโชคเหล่านั้นมาบูชาด้วย พร้อมๆ กับการเติบโตของธุรกิจสายมูเตลู
โดยเครื่องรางสายมูเตลู มีอะไรบ้าง? ไม่เพียงเครื่องรางของขลัง หรือของนำโชคที่มีไว้สำหรับบูชาเท่านั้น แต่ยังพัฒนามาสู่เครื่องประดับแฟชั่น เช่น สร้อยข้อมือ กำไลหินสี จี้สร้อยคอ รวมถึงเลขต่อท้ายไลน์ และวอลเปเปอร์เสริมดวงบนหน้าจอมือถือ ฯลฯ มูเตลูที่คนไทยนิยมกันอย่างแพร่หลายนั้น มักจะเป็นการเสริมดวงในด้านบวก เพราะเชื่อว่าการบูชา หรือมีสิ่งเหล่านี้ไว้ติดตัว จะช่วยเสริมโชคชะตาทั้งเรื่องการงาน การเรียน ธุรกิจ ความรัก ช่วยให้แคล้วคลาดจากอันตราย ช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้าย และดึงดูดพลังงานดีๆ เข้ามาหาตัวเอง โดยจะต้องควบคู่ไปกับการทำบุญ และประพฤติตนดีด้วย ทำให้หลายคนนิยมตระเวนไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเทพเจ้าที่เคารพนับถือ เป็นต้น จึงสะท้อนว่า “มูเตลู” ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่ส่งผลกระทบต่อหลายๆ คน ในหลายด้าน อาจทำให้คนไทยบางส่วนหันมาหาที่พึ่งทางจิตใจเพื่อเสริมขวัญและกำลังใจกันมากขึ้น
จึงมองว่า สายมู เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเครื่องรางของขลัง หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อและไสยศาสตร์เสียส่วนใหญ่ โดยเชื่อว่าเมื่อบูชาในสิ่งนั้นหรือศรัทธาในสิ่งนั้นแล้วจะมีโชค หรือสิ่งที่ขอพรไว้จะเป็นจริงได้หากบูชาในสิ่ง ๆ นั้นอย่างถูกต้อง ซึ่งในปัจจุบันเรื่องของสายมูนั้นลามไปถึงแฟชั่นการแต่งกายในปัจจุบันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสีมงคลที่จะส่งเสริมในด้านต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งสีเสื้อ , สีกางเกง , และสีกระเป๋าเงิน ที่ใครเป็นสายมูมักจะดูก่อนว่าสีใดเป็นสีมงคลและสีใดที่เป็นสีกาลกิณี
โดยจุดเด่นของคนที่เป็นสายมูนั้นคือ ไม่ว่าจะทำอะไรมักจะถึงเรื่องของการที่ทำแล้วจะเป็นมงคลต่อตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการเงินและเรื่องของความรักที่มักจะเป็นเรื่องยอดฮิตของคนในยุคนี้ จนถึงขนาดที่ว่ามีของขลังที่พกแล้วจะทำให้ดึงดูดเงินหรือความรักเข้ามาหาตัวเอง อย่าง ด้ายแดง ที่เป็นของขลังสายมูยอดฮิตมาก ๆ ในปัจจุบัน โดยจะมีวิถีการบูชาและข้อปฏิบัติตามที่ใคร ๆ หลาย ๆ คนทำตามแล้วบอกว่าได้ผลล้านเปอร์เซ็นต์ โดยสายมูสามารถแบ่งออก ๔ ประเภท ประกอบด้วย
๑)สายมูด้านความรัก
๒)สายมูด้านค้าขาย
๓)สายมูด้านการเงินเรียกทรัพย์
๔)สายมูด้านโชคลาภ
คำถามแล้วพระพุทธศาสนามองมิติสายมูอย่างไร หรือ พระพุทธศาสนาเองเป็นสายมูสายหนึ่งหรือไม่ ? ถ้าจะต้องเชื่อในสายมูควรจะมีเครื่องมือใดควรกำกับเพื่อให้อยู่อย่างมีความสุข โดยใต้ภูเขาน้ำแข็งของการเชื่อในสายมูเตลูคืออะไร อย่างไร ? สายมูกำลังสะท้อนอะไรในสังคมไทย ? สายมูนำไปสู่การเสริมสร้างสังคมสันติสุขได้จริงหรือไม่อย่างไร ?
ความจริงทุกคนมีเสรีภาพที่จะเชื่อซึ่งผลการวิจัยคนไทย ๕๒ ล้านคน เชื่อโชคลางไม่ว่าจะเป็นตัวเลขมงคล การพยากรณ์ โหราศาสตร์ ลายมือ พระเครื่อง สีมงคล ทำให้วัดต่างๆ มีการประยุกต์ใช้มูเข้ามาในวัด ส่งผลต่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมส่งผลต่อเศรษฐกิจ สอบเนื่องจาก VUCA World มีการผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ นำไปสู่ความเครียดวิตกกังวลทำให้คนไทยพึงสายมู สายตาม สายแจม แต่ต้องยกระดับสู่สายพ้นให้ได้คือ พ้นจากความทุกข์ รู้ตื่นและเบิกบาน เพราะเป้าหมายลึกๆ ในการเชื่อสายมูคือ รวย ดัง ปัง เด่น เป็นที่รัก สอดรับกับพุทธพจน์ที่ว่า “สิ่งใดพร่องสิ่งนั้นจะดัง สิ่งใดเต็มสิ่งนั้นจะเงียบ” ความพร่องของระบบโครงสร้างประกอบด้วย ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรม ความไม่เสมอภาค การเข้าไม่ถึงทรัพยากร เป็นต้น แต่ถ้าเต็มจะเงียบประกอบด้วย เศษฐกิจดีปากท้อง มีความยุติธรรม มีความเสมอภาค การเข้าระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน แสดงว่าสายมูสอดรับกับการสร้างสันติภาพ
โดยมนุษย์ต้องการปาฏิหาริย์ ซึ่งอิทธิปาฎิหาริย์ อาเทศนาปาฎิหาริย์ ถือว่าเป็นมิติสายมู แต่อนุสาสนียปาฎิหาริย์เป็นสายพุทธแท้ โดยมุ่งเน้นตามคำสอนจริงไปปฏิบัติ เพราะถึงจุดหนึ่งมนุษย์จะไม่อินคำว่าเปลือก สายมูจะต้องรู้ธรรมพึงตระหนักในหลักกาลามสูตรคือ อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะลงมือปฏิบัติ หลักโยนิโสมนสิการคือ พิจารณาโดยแยบคายรอบด้านมองวิภัชชวาทีแบบแยกแยะ หลักศรัทธาคือเชื่อในการกระทำ หลักศีลเคารพในสิทธิของผู้อื่น และหลักมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางไม่สุดโต่งมีความพอดี คำถามเมื่อรวยแล้วทำไมยังทุกข์ จึงต้องยกระดับ “มูสติ มูปัญญา มูศรัทธา มูโยนิโสมนสิการ มูมัชฌิมาปฏิปทา ” มีความพอดีของมูและมีธรรมกำกับเป็นฐาน จึงมองว่า ทุกความเชื่อขอให้มีปัญญากำกับเสมอ “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ไม่รู้ต้องศึกษา” ศึกษาให้เข้าใจจงวิจัยก่อนวิจารณ์